
เมื่อไม่นานมานี้ Facebook เครือข่ายโซเชียลมีเดียที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก ได้มีการประกาศเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ที่ได้รับการคออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญ “โดดเด่น” ในการอภิปรายความรู้เกี่ยวกับสาขาความเชี่ยวชาญของตนภายในกลุ่ม Facebook โดยผู้ดูแลกลุ่มมีสิทธิ์ที่จะมอบชื่อด้านความเชี่ยวชาญให้กับสมาชิกเกือบทุกคนที่ต้องการได้ นอกจากนี้กลุ่มที่ส่งเสริมทฤษฎีสมคบคิดหรือมุมมองที่ไม่เหมาะสมอาจสามารถกำหนด “ผู้เชี่ยวชาญ” ได้เช่นกัน
ยกตัวอย่าง กลุ่ม Facebook ที่ได้ใช้ฟีเจอร์ใหม่นี้โดยการมีเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่น QAnon , กลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีนและกลุ่มการเมืองที่ถกเถียงกันทำให้เกิดการแพร่กระจายข้อมูลที่ผิด ซึ่งเมื่อต้นปีนี้ Facebook ได้มีนโยบายลบกลุ่มที่แพร่กระจายข้อมูลที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจไม่เข้ารับการฉีดวัคซีน และหยุดแนะนำกลุ่มการเมืองให้กับสมาชิกใหม่ อย่างไรก็ตาม โฆษกของ Facebook ได้กล่าวว่า ฟีเจอร์ใหม่นี้เป็นเพียงการทดลองแบบจำกัด เนื่องจากจะมีการเริ่มต้นใช้ได้เฉพาะบางกลุ่มในชุมชน Facebook เท่านั้น โดยกลุ่มต่าง ๆ ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานของชุมชน หากกรณีสมาชิกในกลุ่มได้รับการรายงาน มากกว่า 3 ครั้งในช่วง 90 วันที่ผ่านมา เนื่องจากการละเมิดมาตรฐานของชุมชน สมาชิกนั้นจะไม่ได้รับสิทธิ์ถูกระบุว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ได้
ฟีเจอร์ผู้เชี่ยวชาญของ Facebook จะช่วยเพิ่มบทบาทให้แก่สมาชิกภายในกลุ่ม
สำหรับฟีเจอร์ใหม่นี้ Facebook ได้กล่าวว่ามันเป็นวิธีการส่งเสริมเสียงสมาชิกที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาภายในกลุ่มอย่างแท้ โดย Maria Smith ผู้บริหารของเฟซบุ๊ก ได้เขียนไว้ในบล็อกโพสต์ว่า “ตอนนี้ผู้ดูแลระบบสามารถเลือกสมาชิกเฉพาะในกลุ่มชุมชนของพวกเขาที่มีความโดดเด่นออกมาแสดงความสามารถ ทำให้พวกเขามีบทบาทที่มีความหมายมากขึ้น” นอกจากนี้เธอยังกล่าวเสริมอีกว่า “ผู้ดูแลระบบสามารถทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของกลุ่มได้ เพื่อโฮสต์ถาม&ตอบ แบ่งปันมุมมองในแต่ละหัวข้อและร่วมกันตอบคำถาม”

ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้เชี่ยวชาญสามารถเลือกยอมรับหรือปฏิเสธคำเชิญจากผู้ดูแลระบบได้ หากพวกเขายอมรับ พวกเขาก็จะได้รับเหรียญตราข้างชื่อของพวกเขา ในปัจจุบันบรรดากลุ่มที่ใช้งานบน Facebook มีผู้ดูแลระบบประมาณ 70 ล้านคน ซึ่ง Facebook ยังคงกำลังทดลองวิธีที่จะทำให้ผู้ดูแลกลุ่มสามารถค้นหาผู้เชี่ยวชาญได้อย่างแท้จริงในแต่ละหัวข้อเพื่อเชิญเข้าร่วมกลุ่มของตน โดยเฉพาะในกลุ่มฟิตเนสและเกมที่พวกเขาสามารถระบุสิ่งที่เชี่ยวชาญได้ เช่น ชื่อเกมที่เชี่ยวชาญ ซึ่งทำให้ผู้ดูแลระบบกลุ่มสามารถค้นหาผู้เชี่ยวชาญได้ง่ายขึ้น
บทวิเคราะห์เกี่ยวกับฟีเจอร์ผู้เชี่ยวชาญ
อลิสแตร์ โคลแมน นักวิจัยจากสำนักวิจัย BBC Monitoring ได้กล่าวว่า Facebook เป็นอีกหนึ่งบริการเครือข่ายสังคมที่ช่วยขับเคลื่อนการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ การเลี้ยงดู การเมือง และปัญหาในท้องถิ่น ถึงแม้ว่าแผนการของ Facebook ที่อนุญาตให้ผู้ดูแลระบบกลุ่มสามารถแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญได้ในครั้งนี้จะดูดึงดูดความสนใจในด้านวิธีการนำเสนอเนื้อหาที่มีความน่าเชื่อถือมาสู่ผู้ใช้ แต่ก็ยังมีคำถามที่ต้องการคำตอบจากหลายคนว่าผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถืออย่างแท้จริงหรือไม่
ซึ่งการประกาศของ Facebook ในครั้งนี้ไม่ได้บ่งชี้ถึงกระบวนการตรวจสอบสำหรับการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญอย่างชัดเจนมากนัก โดยสมาชิกแต่ละกลุ่มสามารถตั้งค่าสถานะความเชี่ยวชาญของตนได้ และคาดหวังว่าจะได้รับคำเชิญจากผู้ดูแลกลุ่ม ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าผู้ดูแลกลุ่มนั้นถือเป็นผู้ชี้ขาดคนสุดท้ายว่าใครจะสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ หากผู้ดูแลกลุ่มแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจจริง ๆ อาจทำให้เกิดการนำเสนอเนื้อหาแบบผิด ๆ ได้ ดังนั้นก่อนการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญผู้ดูแลกลุ่มต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้แน่ใจก่อนว่าพวกเขาเหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง

Suwanna Preebunpul
สวัสดีค่ะ ผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน นักเขียนออยนะคะ ไลฟ์สไตล์ส่วนตัว ชอบท่องเที่ยว ถ่ายรูป เขียนบทความแนวแนะนำสินค้า, เทคโนโลยี, สาระความรู้, แฟชั่น และGraphic Design ด้วยความที่ส่วนตัวชอบทำอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีงานเขียนแนวใหม่ ๆ ออกมา ยังไงก็ฝากติดตามผลงานด้วยนะคะ